เมนูที่ได้รับความนิยม
บทความอูมามิ อื่นๆ ที่่น่าสนใจ

สูตรอาหาร
เมนูที่ได้รับความนิยม

เรื่องราวกินดีมีสุข
บทความอูมามิ อื่นๆ ที่่น่าสนใจ
ช่วงหน้าฝนแบบนี้ โดยเฉพาะบ้านเรา ที่เดี๋ยวแดดออก เดี๋ยวฝนตก อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ทำหลายคนเริ่มมีไม่สบายตัว มีอาการเจ็บคอ น้ำมูกไหล หายใจไม่สะดวก หรือถึงขั้นภูมิคุ้มกันตกได้ ซึ่งอย่างหลังไม่ดีแน่
แต่ไม่ต้องห่วง เราสามารถป้องกันและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรงได้ง่าย ๆ แค่เลือกกินผักที่มีประโยชน์ มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันและช่วยบรรเทาอาการไข้หวัดได้
อยากรู้ใช่ไหมว่าต้องกินอะไร อายิฯ เลยจัดมาให้แล้ว กับ "ลิสต์ผักต้านหวัดหน้าฝน" จะมีผักอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
ผักบุ้ง (Morning Glory)
ผักบ้าน ๆ หากินง่าย นิยมนำมาใช้ทำอาหารหลากหลาย ไม่ว่าจะผัด แกงหรือยำ เช่นเช่น ผัดผักบุ้งไฟแดง แกงส้ม แกงเทโพ ยําผักบุ้งกรอบ นอกจากนั้นยังมีคุณค่าทางสารอาหารอยู่มาก ทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามินเอ (มากที่สุด) วิตามินบี 1 บี 2 วิตามินซี ไนอาซิน ฟอสฟอรัส แคลเซียมเหล็ก มีเบตาแคโรทีนสูง และมีสารต้านฮีสตามีน
สรรพคุณของผักบุ้ง
- มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
- ช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ และอ่อนเพลีย
- ช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย
ข้อควรระวัง
- ควรล้างยางผักบุ้งก่อนนำมาทำอาหาร เพราะอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้
- เนื่องจากผักบุ้งจะมีคุณสมบัติลดความดันโลหิต ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตต่ำควรหลีกเลี่ยงการกินผักบุ้ง เพราะอาจทำให้ความดันยิ่งต่ำลงไปอีก
- ในผักบุ้งมีโพแทสเซียมสูง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคไตได้ ควรระมัดระวังในการกิน
ผักชีฝรั่ง (Culantro)
เป็นผักมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว นิยมนำมาใช้เป็นผักโรยและผักเคียงของเมนูต่าง ๆ ใครเจอแนะนำว่าอย่าเขี่ยทิ้ง ลองกินดูก่อน เพราะผักชีฝรั่งมีทั้งเบตาแคโรทีน วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี แคลเซียม รวมถึงธาตุเหล็ก
สรรพคุณของผักชีฝรั่ง
- ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย แก้อาการหวัดได้
- มีฤทธิ์ฝาด ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย
- มีสารต้านอนุมูลอิสระ มีส่วนช่วยชะลอวัย ป้องกันโรคเรื้อรังต่าง ๆ
- มีส่วนช่วยลดความดันโลหิต
ข้อควรระวัง
- ผักชีฝรั่งมีกรดออกซาลิกสูง (Oxalic acid) หากผู้ที่เป็นโรคไตกินมากเกินไป อาจทำให้เกิดนิ่วในไต และเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้
ผักกาดขาว (Chinese Cabbage)
เป็นผักที่นิยมนำมาทำอาหารหลากหลายเมนู เช่น แกงจืด สุกี้ ผัดผัก มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยมีไฟเบอร์ แร่ธาตุ และวิตามินที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น แมงกานีส โฟเลต วิตามินเอ วิตามินเค วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 วิตามินซี วิตามินดี แคลเซียม เหล็ก แมกนีเซียม และฟีนอล (Phenol)
สรรพคุณของผักกาดขาว
- ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ช่วยต้านอนุมูลอิสระให้กับร่างกาย
- ช่วยลดความรุนแรงของอาการและลดระยะเวลาในการเป็นหวัดได้
- ช่วยบรรเทาอาการไอ เจ็บคอ ขับเสมหะในช่วงที่เป็นหวัดได้ดี
- ช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ รวมถึงต้านการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย
ข้อควรระวัง
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร และเป็นโรคเกี่ยวกับม้ามควรเลี่ยงการกินผักกาดขาว เพราะผักกาดขาวจะเข้าไปกระตุ้นกระเพาะอาหารและลำไส้ให้ทำงานหนักมากขึ้นได้
- ผักกาดขาวจะช่วยในเรื่องของการขับปัสสาวะ แต่หากกินมากเกินไปก็จะส่งผลอาจส่งผลเสียได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับไตหรือทางเดินปัสสาวะ
- ผักกาดขาวจะมีโพแทสเซียมที่ช่วยในการควบคุมระดับความดันโลหิต ถ้าหากกินมากเกินไปจะทำให้ความดันโลหิตต่ำลง เกิดอาการคลื่นไส้ได้
ต้นหอม (Spring Onion)
พืชผักสมุนไพรที่เจริญเติบโตได้ง่าย กินได้ทุกส่วนทั้งแบบดิบและสุก นิยมนำไปใช้โรยหน้าเพื่อเสริมกลิ่นให้เมนูอาหารต่าง ๆ รวมถึงใช้เป็นเครื่องเคียงก็ได้ ซึ่งประกอบด้วยสารอาหาร อย่างแร่ธาตุ วิตามินหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น โพแทสเซียม แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม วิตามินเอ และวิตามินซี
สรรพคุณของต้นหอม
- ต้นหอมมีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีกลิ่นเฉพาะ ช่วยในการทำงานของระบบทางเดินหายใจ กระตุ้นระบบทางเดินหายใจ รักษาอาการไข้หวัดทั่วไป
- ช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ด้วยการสร้างบำรุงเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการต่อสู้กับการติดเชื้อและการอักเสบต่าง ๆ
ข้อควรระวัง
- ระวังผู้ป่วยที่รับประทานยากลุ่มวาร์ฟาริน (ยาป้องกันการอุดตันของเลือด เนื่องจากต้นหอมมีวิตามินเคปริมาณมาก อาจทำให้เกิดการอุดตันในเส้นเลือดได้
- ต้นหอมมีรสร้อน อาจทำให้มีอาการเสียดท้องหรือแสบร้อนกลางอกในบางคนได้
ตำลึง (Ivy gourd)
ตำลึงเป็นผักที่เหมาะมากสำหรับคนที่เริ่มกินผัก เพราะไม่ขมกินได้บ่อย นิยมใช้ยอดและใบกินเป็นผักสด อาจจะลวกหรือต้มนำไปเป็นผักเคียงกับน้ำพริก และสามารถนำไปทำอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น แกงจืด ต้มเลือดหมู แกงเลียง ก๋วยเตี๋ยว ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารสูง ประกอบด้วยวิตามิน และแร่ธาตุหลายชนิด เช่น เบตาแคโรทีน วิตามินเอ แคลเซียม ฟอสฟอรัส และธาตุเหล็ก
สรรพคุณของตำลึง
- ช่วยกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาว เสริมระบบภูมิคุ้มกัน และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อต่าง ๆ ในร่างกาย
- มีฤทธิ์เย็นช่วยลดอุณหภูมิร่างกาย บรรเทาอาการปวดหัวจากไข้ และลดความร้อนในร่างกายได้
- มีสารต้านการอักเสบ ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอจากการอักเสบ
ข้อควรระวัง
- ใบและยอดของตำลึงมีฤทธิ์ช่วยการกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ดังนั้นไม่ควรกินมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้ท้องเสียได้
รู้แบบนี้แล้วก็เตรียมซื้อผักเหล่านี้ติดตู้เย็นไว้ได้เลย หรือใครที่ไม่กินผักชนิดไหน ลองเปิดใจดูหน่อยนะ เพราะประโยชน์แน่นจริง ๆ หน้าฝนนี้จะได้ห่างไกลจากไข้หวัดยังไงล่ะ
อายิโนะโมะโต๊ะขอชวนทุกคนมา ‘กินดี มีสุข’ เพราะการกินที่ดี มีผลต่อสุขภาพ ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงไร้โรค มีความสุขได้ในทุกวัน ๆ นี่แหละคือคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน
ขอบคุณข้อมูลจาก:
https://bit.ly/40ObUSJ
https://bit.ly/3Ip8Hmh
https://bit.ly/46B5NoA
https://bit.ly/44ImKee
https://bit.ly/3IoY3fq
https://bit.ly/4lJwfAF