บทความอูมามิ อื่นๆ ที่่น่าสนใจ
เรื่องราวกินดีมีสุข
บทความอูมามิ อื่นๆ ที่่น่าสนใจ
ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ร่างกายกำลังเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว แต่ความต้องการสารอาหารยังคงเหมือนกับทุก ๆ วัย แตกต่างกันในส่วนลักษณะและปริมาณของสารอาหาร โดยจะเน้นไปที่สารอาหารที่สามารถฟื้นฟูสุขภาพให้ดีขึ้น ช่วยชะลอความเสื่อมของกระดูกและกล้ามเนื้อ รวมไปถึงช่วยลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยจากภาวะโรคเรื้อรัง
ในแต่ละวันผู้สูงอายุควรได้รับพลังงานวันละ 1,500-2,000 กิโลแคลอรี จากการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทั้ง 3 มื้อ เพราะหากผู้สูงอายุได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ จะส่งผลให้ระบบร่างกายไม่สมดุล และเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดโรคภัยต่าง ๆ เช่น ภาวะหลงลืม ปัญหาเกี่ยวกับสายตา และอาการปวดตามกล้ามเนื้อและข้อได้ หากคนใกล้ตัวของคุณเริ่มประสบปัญหาเหล่านี้ อายิโนะโมะโต๊ะขอชวนคุณมาตรวจเช็กอาการเบื้องต้น รวมถึงมาดูอาหารที่ควรกินเพื่อป้องกันโรคได้ตามนี้
1. ภาวะหลงลืมในผู้สูงอายุ
เกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น และการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทำให้ระบบประสาทและสมองเสื่อมถอยเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลกระทบทั้งด้านความคิด ความทรงจำ และการใช้ชีวิตประจำวัน
● โดยอาการเบื้องต้นของภาวะหลงลืมในผู้สูงอายุ มีดังนี้
- มักลืมของที่เป็นของส่วนตัว
- มีปัญหาในการนึกคำศัพท์หรือคำเฉพาะ
- มักถามคำถามซ้ำ ๆ หรือเล่าเรื่องเดิม ๆ หลายครั้ง
- มักลืมว่าได้ทำอะไรไปแล้ว เช่น ทานยาหรือทานข้าว เป็นต้น
- หลงลืมบ่อย หรือมักหลงทาง แม้ในสถานที่ที่เคยไป
- ลืมวันและเวลา
- มักจำนัด หรือเหตุการณ์สำคัญไม่ค่อยได้
● การกินเพื่อป้องกันภาวะหลงลืมในผู้สูงอายุ
- กรดอะมิโน 9 ชนิด
ช่วยกระตุ้นสมรรถนะของสมอง และการประสานงานกันของกล้ามเนื้อ ช่วยเสริมสร้างเซลล์ประสาทให้แข็งแรง รวมไปถึงช่วยเสริมความจำให้ดีขึ้น
สามารถพบได้ใน: เนื้อวัว เนื้อไก่ เนื้อปลา หอย ไข่ นม เต้าหู้ ควินัว เมล็ดเจีย และบักวีต
- วิตามินบี
ช่วยบำรุงประสาท ความทรงจำ ป้องกันโรคสมองเสื่อม และช่วยบำรุงระบบประสาทอื่น ๆ ของร่างกาย ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้วิตามินบี 6 ยังช่วยเสริมการดูดซึมกรดอะมิโนให้เข้าไปช่วยเสริมสร้างระบบประสาท และสมองให้แข็งแรงขึ้นอีกด้วย
สามารถพบได้ใน: เนื้อสัตว์ ไข่แดง ปลา พืชผักใบเขียว จมูกข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ถั่วเหลือง ถั่วลิสง กะหล่ำปลี และยีสต์
- วิตามินซี
ช่วยให้สมองไม่เสื่อมเร็ว ป้องกันการสูญเสียความจำระยะสั้น ช่วยเพิ่มจำนวนเซลล์ประสาทในฮิปโปแคมปัส ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อความทรงจำ
สามารถพบได้ใน: ส้ม สตรอว์เบอร์รี กีวี พริกหยวก บรอกโคลี คะน้า และผักโขม
- วิตามินอี
ช่วยในการทำงานของระบบประสาท ชะลอความเสื่อมของการคิด และความจำ ช่วยปรับสมดุลอารมณ์ และป้องกันโรคที่เกี่ยวกับสมองในผู้สูงอายุได้
สามารถพบได้ใน: อาหารจำพวกถั่วเมล็ดแห้ง ธัญพืช ผักใบเขียว เช่น บรอกโคลี และหน่อไม้ฝรั่ง รวมทั้งน้ำมันพืช เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันรำข้าว น้ำมันข้าวโพด และน้ำมันดอกทานตะวัน
2. ปัญหาสายตา
สามารถเกิดได้กับทุกคนที่อายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป สาเหตุมาจากการที่เลนส์แก้วตาขาดความยืดหยุ่น กล้ามเนื้อในตาที่ช่วยในการมองใกล้ทำงานได้แย่ลง จึงต้องใส่แว่นตาช่วย เพื่อปรับเปลี่ยนกำลังรวมแสงให้เพิ่มขึ้นเมื่ออยากมองระยะใกล้
● โดยอาการเบื้องต้นของปัญหาสายตา มีดังนี้
- มองวัตถุระยะใกล้ไม่ชัด ต้องหรี่ตา และหากเป็นหนักขึ้นอาจมองเห็นไม่ชัดทั้งใกล้และไกล
- ไม่สบายตา ปวดตา และรอบดวงตา หรือปวดศีรษะจากการเพ่งมองบางสิ่งบางอย่างเป็นเวลานาน ๆ
- มองภาพไม่ชัดเวลากลางคืน
- มีปัญหาในการอ่านหนังสือ
- ตามัว การมองเห็นแย่ลง สายตาไม่คงที่
● การกินเพื่อบำรุงสายตาในผู้สูงอายุ
- วิตามินเอ
ช่วยปกป้องกระจกตา ช่วยเรื่องการมองเห็นในที่ที่มีแสงน้อยหรือที่มืด บำรุงระบบประสาทตา และชะลอการเสื่อมก่อนวัย
สามารถพบได้ใน: ผักผลไม้สีเหลือง ส้ม เขียว เช่น แคร์รอต ฟักทอง ตำลึง แคนตาลูป และในอาหารอื่น ๆ เช่น นม ชีส ไข่แดง ตับ
- โอเมก้า 3
บำรุงสายตา ช่วยป้องกันการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม สาเหตุหลักของโรคตาบอด นอกจากนี้ยังสามารถช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้อีกด้วย
สามารถพบได้ใน: ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า และปลาทู พืชตระกูลถั่ว ได้แก่ เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน เฮเซลนัท และวอลนัท
- ลูทีน
มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องเซลล์ของจอประสาทตาไม่ให้ถูกทำลาย ช่วยชะลอการเกิดโรคต้อกระจก และโรคจอประสาทตาเสื่อม
สามารถพบได้ใน: ผักใบเขียว ไข่แดง กีวี องุ่น ซูกินี และข้าวโพด
3. อาการปวดจากข้อเข่าเสื่อม
พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งทำให้กระดูกส่วนข้อต่อ กล้ามเนื้อ และเส้นประสาทเสื่อมลงตามวัย และจากการใช้งานของข้อเข่ามาเป็นเวลานาน โดยโรคนี้ทำให้เกิดอาการปวดเข่า หัวเข่าบวมแดง เข่าตึงยึด มีเสียงในเข่า และอาจนำไปสู่โรคข้ออักเสบได้ในที่สุด
● โดยอาการเบื้องต้นของโรคข้อเข่าเสื่อม มีดังนี้
- รู้สึกปวดเข่าขณะเดิน หรือเวลาขึ้นลงบันได จนบางครั้งมีอาการเข่าทรุด เพราะปวดเสียวในเข่า รวมไปถึงไม่สามารถนั่งยอง ๆ นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบได้เป็นเวลานาน ๆ
- ไม่สามารถขยับเข่า หรือเคลื่อนไหวได้อย่างเต็มที่ จะรู้สึกตึงข้อ และมีอาการข้อติดขัดเวลาที่เหยียดขา หรืองอเข่า
- รู้สึกปวดตื้อ ๆ เจ็บแปลบตามแนวบริเวณข้อเข่า เนื่องจากกระดูกถูกทำลาย จึงทำให้รู้สึกปวด หากทิ้งไว้จนลุกลามก็จะทำให้ปวดหนักมาก จนบางรายอาจขยับข้อได้ลดลง
● การกินเพื่อป้องกันการปวดจากข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ
- แคลเซียม
ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กระดูก ข้อต่อและกล้ามเนื้อ ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน และสร้างมวลกระดูกให้มีหนาแน่นขึ้น โดยผู้สูงอายุต้องการแคลเซียมอย่างน้อย 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน
สามารถพบได้ใน: นมวัว โยเกิร์ต นมเปรี้ยวไม่หวาน ฟองเต้าหู้ ปลาตัวเล็ก คะน้า กวางตุ้ง ตำลึง ใบยอ ฟักทอง และแคร์รอต
- วิตามินเค
ช่วยกระตุ้นการจับแคลเซียมกับโปรตีน และช่วยสร้างออสทิโอแคลซิน (Osteocalcin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่เข้ามาช่วยบำรุง และสร้างความแข็งแรงให้กระดูกได้อีกด้วย
สามารถพบได้ใน: ผักคะน้า ผักโขม ผักกาดเขียว ผักเคล กะหล่ำปลี บรอกโคลี แคร์รอต อโวคาโด ถั่วเหลือง ตับวัว น้ำมันตับปลา และนัตโตะ
- แมงกานีส ซิงค์ ทองแดง
ช่วยในพัฒนา เสริมสร้าง ซ่อมแซมกระดูก และลดการสูญเสียแคลเซียม เพื่อรักษาให้กระดูกแข็งแรงอยู่เสมอ
สามารถพบได้ใน: ถั่ว อัลมอนด์ เมล็ดฟักทอง โยเกิร์ต ไข่ โกโก้ หอยนางรม หอยกาบ หอยแมลงภู่ สาหร่ายสไปรูลินา มันหวาน และมันฝรั่ง
- แมกนีเซียม
ช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ เสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง ช่วยป้องกันตะคริว กล้ามเนื้อกระตุก และลดความเหนื่อยล้าได้
สามารถพบได้ใน: ถั่ว ไข่ นม ธัญพืชเต็มเมล็ด ผักใบเขียวเข้ม และผลไม้ที่มีเปลือกแข็ง
เพื่อให้สุขภาพของคนที่คุณรักแข็งแรง ห่างไกลจากโรค สามารถเริ่มได้ง่าย ๆ เพียงมอบสารอาหารที่ครบถ้วนให้กับครอบครัวและคนที่รัก โดยอายิโนะโมะโต๊ะขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนโภชนาการที่ดีและส่งต่อสังคม “กินดี มีสุข” นอกจากนี้ควรทำควบคู่ไปกับการพักผ่อนที่เพียงพอ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างให้ร่างกายแข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน